หน้าแรก / เกี่ยวกับ สวจ. / ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
ประวัติสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาทางวิศวกรรมที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456 ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 จึงมีการรวมตัวกันของนิสิตเก่าจัดตั้ง สมาคมวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมการทำกิจกรรมของนิสิตและนิสิตเก่าของคณะฯ
ในปี พ.ศ.2486 สมาคมวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกยุบรวมกับสมาคมนายช่างก่อสร้างแห่งกรุงสยาม จัดตั้งเป็นสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อร่วมกันร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยเหตุนี้ชาววิศวจุฬาฯจึงไม่มีสมาคมที่จะเป็นศูนย์กลางของนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯเป็นการเฉพาะ
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 กลุ่มนิสิตเก่าวิศวจุฬาอาวุโสมีความเห็นว่า นิสิตเก่าวิศวจุฬาฯควรมีศูนย์กลางในการทำกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อสนับสนุนคณะฯและดูแลช่วยเหลือนิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่าอาวุโสกลุ่มดังกล่าวจึงได้ร่วมกันก่อตั้ง “ชมรมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ขึ้น โดยถือเอาวันที่ 1 มิถุนายน 2522 ซึ่งตรงกับวันครบรอบปีที่ 66 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นวันแห่งการสถาปนาชมรมโดยมี ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ เป็นประธานชมรมท่านแรก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 “ชมรมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้เปลี่ยนสถานะเป็น “สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” หรือเรียกย่อว่า “ สวจ.” โดยมีเจตจำนงในการก่อตั้งดังนี้
- เพื่อเป็นศูนย์กลางของนิสิตเก่าทุกรุ่นในการทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
- เพื่อให้การสนับสนุนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามกำลังความสามารถในการธำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงและเกียรติคุณ
- เพื่อให้การดูแลและช่วยเหลือนิสิตปัจจุบัน
โดยมี ฯพณฯ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ เป็นนายก สวจ.ท่านแรก นับตั้งแต่ก่อตั้งสวจ.เป็นต้นมานั้น มีคณะกรรมการบริหารรวมทั้งสิ้น 21 ชุด มีนายก สวจ.ทั้งหมด 18 ท่าน
นายกในวาระปัจจุบัน (พ.ศ.2567-2568) คือ คุณวิโรจน์ เจริญตรา
คณะกรรมการ สวจ.แต่ละวาระได้สร้างผลงาน วางรากฐานการทำงาน สานต่องานเก่า และสร้างงานใหม่อย่างต่อเนื่องมาทุกยุุคทุกสมัย กล่าวคือ
สมัยที่ 1 และสมัยที่ 2 ( พ.ศ. 2525-2530) ฯพณฯ พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์ (วศ.2486) เป็นนายก สวจ. ได้มุ่งเน้นการหาทุนทรัพย์สำรอง เพื่อการบริหารของกรรมการในยุคถัดมา การทำงานจึงเน้นไปที่การจัดกีฬาการกุศลเพื่อหารายได้ และการจัดงานคืนสู่เหย้า
สมัยที่ 3 และ สมัยที่ 4 (พ.ศ. 2531-2534) ดร.อาณัติ อาภาภิรม (วศ.2499) เป็นนายก สวจ. คณะกรรมการได้ริเริ่มการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก มีการเชิญชวนนิสิตเก่าเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อความเข้มแข็งของสมาคมฯ นอกจากงานคืนสู่เหย้าและการจัดกีฬาหารายได้แล้ว สมัยนี้ยังมีการริเริ่มกิจกรรมอื่นๆ เช่น การประกาศเกียรติคุณวิศวกรดีเด่น การจัดเลี้ยงต้อนรับบัณฑิตใหม่ การจัดคอนเสิร์ตปราสาทแดงแห่งความหลัง การจัดทำบัตรสมาชิก นอกจากนี้ยังมีความคิดที่จะสร้างอาคารที่ทำการของสวจ.โดยการรื้อโรงอาหารออกวางแผนก่อสร้างเป็นอาคาร 5 ชั้น (ต่อมาภายหลังได้สร้างเป็นอาคารเรียน 20 ชั้นแทน) การทำกิจกรรมที่กล่าวมานี้ แม้จะประสบผลสำเร็จในเชิงรายได้ แต่นายก สวจ.ยังไม่คิดว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ เนื่องจากมีนิสิตเก่ายังมาร่วมงานในกิจกรรมน้อย กิจกรรมยังคงจำกัดอยู่ที่กลุ่มนิสิตพี่เก่าอาวุโส และนิสิตเก่าที่ถูกเกณฑ์มาจากหน่วยงานต่างๆ ดร.อาณัติจึงได้ฝากความเห็นไว้ก่อนหมดวาระว่า สวจ.ควรมีการพัฒนากลไกของการสื่อสาร เพื่อทำให้นิสิตเก่าได้รู้ถึงสิ่งที่สวจ.ตั้งใจจะทำ และเปิดโอกาสให้นิสิตเก่าแจ้งความต้องการ ว่าประสงค์ให้สมาคมทำกิจกรรมใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของนิสิตเก่าทั้งหมด ไม่ใช่เพียงการทำกิจกรรมของนิสิตเก่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
สมัยที่ 5 และสมัยที่ 6 ( พ.ศ. 2535-2538) คุณสมบูรณ์ มณีนาวา (วศ.2496) เป็นนายก สวจ. มีนโยบายปรับโครงสร้างการดำเนินงานของ สวจ.โดยวางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของการดำเนินงาน โดยเฉพาะกลไกของการสื่อสาร การจัดทำทำเนียบนิสิตเก่า เพื่อสร้างฐานข้อมูลในการสื่อสารกับนิสิตเก่า วางแผนปรับรูปแบบ สารสมาคม ซึ่งเป็นจดหมายข่าวของ สวจ.ขนาด 8 หน้า ให้เป็นวารสารที่เป็นรูปเล่ม จัดกิจกรรม ชุมนุมประธานรุ่น โดยเชิญประธานรุ่นมารับประทานอาหารพูดคุยเสนอความคิดเห็นแก่ สวจ. มีการวางแผน และร่างข้อบังคับชมรมกีฬา จัดสร้างที่ทำการชั่วคราวของ สวจ. กิจกรรมเหล่านี้ถูกดำเนินการไปพร้อมกับกิจกรรมประจำที่เคยทำอยู่
สมัยที่ 7 (พ.ศ. 2539-2540) คุณพละ สุขเวช (วศ.2500) เป็นนายก สวจ. ได้เร่งรัดทำสิ่งที่คณะกรรมการชุดก่อนจัดเตรียมไว้ ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น โดยจัดทำ ทำเนียบนิสิตเก่าวิศวจุฬา จนแล้วเสร็จ ออกวารสาร อินทาเนีย เป็นครั้งแรก โดยสวจ.อนุมัติให้จัดส่งให้นิสิตเก่าโดยไม่คิดมูลค่า มีการพัฒนา ชุมนุมประธานรุ่น ให้มีโครงสร้างใหม่ที่สมบูรณ์ขึ้นเรียกชื่อใหม่ว่า คณะกรรมการกิจกรรมสัมพันธ์ ประกอบด้วย ประธานรุ่น ตัวแทนคณาจารย์ ตัวแทนนิสิตเก่า และตัวแทนสวจ. ได้เชิญชวนนิสิตปัจจุบันเข้าร่วมกิจกรรมกับสวจ.อย่างใกล้ชิด ทำให้สวจ.เห็นภาพปัญหาภายในคณะชัดเจนขึ้น มีการศึกษาหาแนวทางในการสนับสนุนคณะ และแนวคิดการจัดตั้งกองทุน โดยริเริ่มจัดทำเหรียญที่ระลึกครบรอบ 84 ปี วิศวจุฬา (คุณโชค ศิวะสนธิวัฒน์ วศ.2507) และจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อหารายได้เป็นทุนตั้งต้นของกองทุน
สมัยที่ 8 ( พ.ศ. 2541-2542) คุณวีระวัฒน์ ชลายน (วศ.2501) เป็นนายก สวจ.ได้ขยายผลสิ่งที่คณะกรรมการชุดก่อนได้สร้างไว้ โดย อินทาเนีย กลายเป็นวารสารที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากจากนิสิตเก่า คณะกรรมการกิจกรรมสัมพันธ์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ มีตัวแทนรุ่นมาประชุมกันอย่างคับคั่ง โดยสาระสำคัญเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาการผลิตบัณฑิตของคณะวิศวกรรมศาสตร์
สวจ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการช่วยเหลือคณะฯ โดยมี รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงค์ วศ.2515 เป็นประธาน จึงได้เกิด แผนพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งได้สะท้อนให้นิสิตเก่าเห็นถึงปัญหาที่มีอยู่ หนทางที่จะแก้ไขปัญหา ตลอดจนแนวทางที่นิสิตเก่าจะเข้ามาช่วยเหลือคณะฯ สวจ.ได้ส่งผลการศึกษานี้ไปขอความคิดเห็นเพิ่มเติมจากคณะกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ หลังจากนั้นจึงได้ส่งมอบผลการศึกษาแก่ รศ.ดร. ณรงค์ อยู่ถนอม คณบดีในขณะนั้น แผนพัฒนาคณะฯนี้ได้นำไปสู่การร่างระเบียบจัดตั้งกองทุนพัฒนาคณะฯ ซึ่งภายหลัง สวจ.ได้ส่งมอบเงินสด 580,000 บาท และเหรียญที่ระลึกครบรอบ 84 ปีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มูลค่ารวม 7 ล้านบาทเป็นทุนตั้งต้นของกองทุนนี้ กองทุนพัฒนาคณะนี้เป็นกลไกที่ทำให้นิสิตเก่ามีโอกาสในการเสนอความคิดเห็นผ่านคณะกรรมการกองทุน และและมีส่วนร่วมในการพัฒนาคณะฯโดยการให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของคณะ คณาจารย์ และนิสิต
ในสมัยนี้ถือกำเนิด ชมรมกอล์ฟวิศวจุฬา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ของนิสิตเก่ารุ่นต่างๆมาจนถึงปัจจุบัน สวจ.ยังได้ช่วยเหลือบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่มีงานทำในยุควิกฤตเศรษฐกิจ โดยการประสานผ่านวารสารอินทาเนีย และเป็นตัวกลางหางานให้ สวจ.ได้ร่วมกับคณาจารย์ทำแบบสอบถามไปถึงนิสิตที่สำเร็จการศึกษาระหว่าง 1 ปี ถึง 5 ปี เพื่อติดตามผลว่า ความรู้ที่ได้รับจากสถาบันนั้นเพียงพอต่อการทำงานหรือไม่ บัณฑิตใหม่มีความเห็นในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร นอกจากนี้ยังมีโครงการบูรณะอาคารแผนกสุขาภิบาลเพื่อสร้างเป็นที่ทำการของสวจ. และยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายที่ดำเนินการในวาระนี้
สมัยที่ 9 ( พ.ศ. 2543-2544) ดร.เกษม ใจหงษ์ (วศ.2503) เป็นนายก สวจ. ได้มุ่งเน้นด้านโครงสร้างของ สวจ.โดยวางแผนการบริหาร โดยการแบ่งงานบริหารออกเป็น 4 สายงาน แต่งตั้งอุปนายกเป็นประธานในแต่ละสายงาน เพื่อให้ อุปนายกแต่ละท่านมีโอกาสรับผิดชอบกิจกรรมได้ชัดเจนขึ้น ส่วนงานปรับปรุงอาคารที่เกิดขึ้นในสมัยก่อนหน้า ได้แล้วเสร็จและเปิดใช้ในสมัยนี้ ด้านกิจกรรม ได้จัดให้มีการบรรยาย จุฬาฟอรั่ม 2 ครั้ง จัดกิจกรรมแรลลี่ และจัดนิทรรศการเทคโนโลยีในชื่อ “ไทยเทค 2001”
สมัยที่ 10 (พ.ศ.2545-2546) ดร.ศรีสุข จันทรางศุ (วศ.2505) เป็นนายก สวจ. ได้จัดทำเว็บไซต์ www.intania.com มีการริเริ่มโครงการพี่เก่าแนะแนวน้อง มีการจัดงานนัดพบตลาดแรงงานทางวิศวกรรม และเริ่มโครงการ “กองทุนวิศวจุฬาสงเคราะห์”
สมัยที่ 11 ( พ.ศ. 2547-2548) คุณวิเศษ จูภิบาล (วศ.2506) นายก สวจ.ได้สานต่อโครงการ Intania Forum ให้มีสาระและเป็นประโยชน์แก่สมาชิกมากขึ้น จัดงานเสวนา Executive Engineer Talk จัดงานประกาศเกียรติคุณวิศวจุฬาดีเด่นแบบ Dinner talk
สมัยที่ 12 (พ.ศ. 2549-2550) คุณอดิเทพ พิศาลบุตร์ (วศ.2508) นายก สวจ.มีการสรรหาวิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่นครั้งที่ 1 เพื่อจารึกนามผู้ทำคุณประโยชน์เข้าสู่หอกิตติคุณ (Hall of Fame) โดยกำหนดให้มีการสรรหาทุก 2 ปี ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การจัดงาน Dinner Talk และก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมนวัตกรรมวิศวกรรม เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการวิศวกรรมโดยมุ่งสนับสนุนการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ นำไปสู่นวัตกรรมวิศวกรรมที่ล้ำหน้า
สมัยที่ 13 ( พ.ศ.2551-2552) คุณวิศิษฎ์ อัครวิเนค (วศ.2509) นายก สวจ. มีการจัดงาน Dinner Talk ต่อเนื่องมาจาก พ.ศ. 2556 เป็นการหารายได้เข้าสมาคมฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆของสมาคมฯ
สมัยที่ 14 ( พ.ศ.2553-2554) คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ (วศ.2514) นายก สวจ. ได้ริเริ่มจัดทำโครงการสร้างสื่อสังคม และเครือข่ายสังคมวิศวจุฬาฯ (Social Media & Social Network) โดยคุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร (วศ.2529) ฝ่ายวิชาการและพัฒนา ได้จัดกิจกรรม Intania Leadership Network (ILN) The Side No Body Knows โดยรับสมัครสมาชิกเพื่อหาทุนสำหรับการจัดงานและเผยแพร่กิจกรรมให้สมาชิกและนิสิตปัจจุบันได้รับทราบ กิจกรรมนี้ยังมีการจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สมัยที่ 15 (พ.ศ. 2555-2556) คุณวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล (วศ.2515) นายก สวจ. มีการระดมทุนจัดสร้างอาคารวิศวฯ 100 ปีร่วมกับ รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ (วศ.2513) คณบดีในขณะนั้น มีโครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุ 101 รูป ถวายเป็นพระกุศลแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เนื่องในโอกาสพิธีมหามงคลฉลองพระชันษาครบ 100 ปีวันที่ 3 ตุลาคม 2556 มีการเปิดโครงการรับบริจาคโลหิตจำนวน 1 ล้าน ซีซี และจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี คณะวิศวจุฬาฯ อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 9000 คน
สมัยที่ 16 ( พ.ศ. 2557-2558) คุณนำชัย หล่อวัฒนตระกูล (วศ.2517) นายก สวจ. ได้ปรับปรุงห้องสมุดของคณะฯให้มีความทันสมัย โดยระดมทุนจากนิสิตเก่าทุกรุ่น ปรับปรุงห้องเรียนในอาคารวิศวฯ 100 ปี ให้ทันสมัย มีการจัดงานวิ่งมินิมาราธอน ระยะทาง 3.5 กม. และ 10.5 กม. ในงานนี้มีนิสิตเก่าเข้าร่วมงานประมาณ 3,000 คน และการจัดงานครั้งนี้ยังได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 1 ในการจัดอันดับงานวิ่งมินิมาราธอนทั่วประเทศ นอกจากนั้น ในสมัยนี้ยังได้สานต่อโครงการรับบริจาคโลหิต 1 ล้านซีซี โดยใช้รหัส CU B-157 ในการบริจาคที่สภากาชาดไทยและได้รวบรวมโลหิตบริจาคครบจำนวน 1 ล้าน ซีซีตามต้องการ มีการจัด Innovation Hub โดยนำไทเทเนียมมาใช้เป็นกระดูกเทียม ทำข้อเข่าเทียมนำไปใช้กับโรงพยาบาลทหารผ่านศึก มีการก่อตั้งชมรม Intania Open Innovation Club (IOIC) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อยอดสู่การทำธุรกิจ คุณราเมศวร์ ศิลปพรหม (วศ.2517) ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ ได้มอบเงินส่วนตัวเป็นทุนในการดำเนินโครงการจำนวน 10,000,000 บาท เพื่อให้นิสิตปัจจุบันนำไปพัฒนาในการต่อยอดธุรกิจ
สมัยที่ 17 (พ.ศ. 2559-2560) คุณสรัญ รังคสิริ (วศ.2518) นายก สวจ. ได้จัดตั้ง ชมรม IYA (Intania Young Alumni) มีการจัดงาน IYA Forum และจัดงานวิ่ง Intania Chula Mini Marathon 2017 ซึ่งเป็นการจัดที่ได้รับการโหวตจากนักวิ่ง ให้เป็นงานวิ่งที่ดีเป็นลำดับที่ 2 ได้มีการร่วมจัดงานครบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 26 มีนาคม 2560 มีการจัดทัศนศึกษา CU ENG Alumni Visual Education ให้แก่นิสิตเก่าได้ดูงานในสถานที่ต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากนิสิตเก่าเป็นอย่างดี มีการสานต่อชมรม Intania Open Innovation Club (IOIC) จัดห้อง C0-Working Space ให้นิสิตได้ใช้งานทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ มีการเข้าร่วมงาน Startup Thailand และงาน Digital Thailand และยังมีการสานต่อโครงการบริจาคโลหิตต่อเนื่องจาก พ.ศ. 2555
สมัยที่ 18 (พ.ศ.2561-2562) คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ (วศ.2520) นายก สวจ. ได้จัดงานวิ่งมินิมาราธอน ซึ่งเป็นอีกสมัยที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ได้มีการบริจาคเงินให้กับมูลนิธิต่างๆ มีการอนุมัติจ่ายเงินจากกองทุนวิศวจุฬาสงเคราะห์ให้แก่นิสิตเก่าที่เจ็บป่วยเรื้อรังไม่สามารถช่วยตนเองได้ มีการเปิดโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พัฒนาช่องทางการสื่อสาร เพื่อการสื่อสารกับกลุ่มต่างๆ (Web site, Facebook และ Line) มีการจัดระบบฐานข้อมูล และจัดงานทะเบียน มีการรวบรวมรายชื่อ นิสิตเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456-2559 ประมาณ 50,000 รายชื่อให้อยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน จัดรวบรวม E-mail ของนิสิตเก่า กว่า 14,000 E-mail และโอนย้ายฐานข้อมูลต่างๆไปที่ server ของคณะฯ มีการจัดทำระบบสมาชิกแบบออนไลน์ จัดโครงการทัศนศึกษาเพื่อพานิสิตเก่าไปดูงานในสถานที่สำคัญๆหลายแห่ง
สมัยที่ 19 ( พ.ศ. 2563-2564) คุณอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ (วศ.2522) นายก สวจ.มีการจัดการปรับปรุงฐานข้อมูลนิสิตต่อเนื่องจากวาระก่อนหน้าให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในวาระนี้เป็นช่วงของโรคอุบัติใหม่โควิด 19 งานส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ป่วย มีการจัดตั้งโครงการ Intania Chula for Southern Hospital จัดสร้างห้องความดันลบให้แก่โรงพยาบาลในภาคใต้ 10 แห่ง รวมทั้งมีการแจกข้าวสารอาหารแห้งให้แก่ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและชุมชนโดยรอบ
สมัยที่ 20 (พ.ศ.2565-2566) คุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช (วศ.2524) นายก สวจ.เป็นช่วงเวลาแห่งการหลอมรวมใจวิศวจุฬาฯ ให้เป็นปึกแผ่นเพื่อฟื้นฟูคณะครั้งใหญ่ ระดมทุนจากนิสิตเก่าได้กว่า 135 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดใน 58 ปี ปรับปรุงลานเกียร์ ทาสีตึก 1 ตึก 2 ตึก 3 และอาคารอรุณ สรเทศน์ ปรับปรุงห้องน้ำตึก 3 ใหม่ทั้งหมด และระเบียงชั้น 2 ตึก 3 รวมถึงจัดทำห้อง INTANIA CLUB และ Hall of Fame โดยใช้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี และยังได้จัด INTANIA Music Fest เพื่อเปิดให้ชาวจุฬาฯ กว่า 7,000 คนมาร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส 111 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้มอบเงิน 10 ล้านบาท สมทบทุนโครงการปรับปรุงโครงการเกเวอร์ต สแควร์ของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และยังได้ร่วมกับคณะกรรมการนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ (กวศ.) ฟื้นฟูระบบ SOTUS จำลองกิจกรรมห้องเชียร์สอนน้องร้องเพลงและจัดงานวิ่งการกุศล CHULA INTANIA RUN 2024 นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนพัฒนากิจกรรมนิสิตได้กว่า 2.5 ล้านบาท
สมัยที่ 21 (พ.ศ.2567-2568) คุณวิโรจน์ เจริญตรา (วศ.2525) นายกสวจ. มีการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อนำ สวจ.สู่ Digital transformation และรองรับต่อนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สมาชิกสามารถปรับปรุงข้อมุลส่วนบุคคลได้ด้วยตนเอง โดยผ่านช่องทาง LINE OA Intania Alumni หรือเว็บไซต์ ซึ่งได้ปรับปรุงใหม่ให้รองรับการใช้งานดังกล่าว