ประวัติ “พระเจริญวิศวกรรม” ผู้บุกเบิกการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ในประเทศไทย
เจริญ เชนะกุล, ส.ก.๒๐๔๐ พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ ศราภัยวณิช*/ศราภัยวานิช/เชนะกุล**) James Shea (พ.ศ.๒๔๓๘-๒๕๓๐)
บิดาแห่งวิศวกรรมแผนใหม่ (Father of Modern Engineering)
นักฟุตบอลสวนกุหลาบฯชุดชนะเลิศ พ.ศ.๒๔๕๔
ผู้ออกแบบก่อสร้างอัฒจันทร์ไม่มีเสาหลังคาสนามศุภชลาศัย (ฝั่งที่ประทับ)
บิดาแห่งวิศวกรรมแผนใหม่ (Father of Modern Engineering)
นักฟุตบอลสวนกุหลาบฯชุดชนะเลิศ พ.ศ.๒๔๕๔
ผู้ออกแบบก่อสร้างอัฒจันทร์ไม่มีเสาหลังคาสนามศุภชลาศัย (ฝั่งที่ประทับ)
พระเจริญวิศวกรรม เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นบุตร Mr.John Edward Austin Shea, M.I.E.E. ชาวอังกฤษ เชื้อสายไอริช และนางกี๋ ชาวจังหวัดนครสวรรค์ บิดาสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์สาขาไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เข้ามาประจำทำงานอยู่กรมการไฟฟ้าในขณะนั้น เป็นนายช่างวิศวกรไฟฟ้า ต้องเข้าไปดูแลการติดตั้งเดินสายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง อยู่เป็นประจำ จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับนางกี๋ ซึ่งเป็นข้าหลวงอยู่ในตำหนักของเจ้านายฝ่ายเหนือและได้แต่งงานกัน พระเจริญวิศวกรรมจึงได้รับการอบรมทั้งแบบฝรั่งและแบบไทย พูดภาษาอังกฤษและไทยได้ตั้งแต่เล็กๆ แต่ก็ดำเนินชีวิตแบบไทยแท้ นับถือศาสนาพุทธตามฝ่ายมารดา นอกจากนี้ Mr.John Edward Austin Shea ยังได้ร่วมจัดสร้างรถรางสายรอบเมืองจนเสร็จและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จเปิด และท่านสวมชุด Tail Coat ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถรางพระที่นั่งถวายในการเปิดใช้รถราง
เริ่มรับการศึกษาเมื่ออายุ ๗ ขวบ
พ.ศ.๒๔๔๕-๒๔๕๐ เรียนที่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน
พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๕๓ เรียนชั้นมัธยมที่ ร.ร.ราชวิทยาลัย
พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๕๕ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ล้วนเป็นสถาบันที่เด่นแห่งยุคทั้งสามโรงเรียน
พ.ศ.๒๔๔๕-๒๔๕๐ เรียนที่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน
พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๕๓ เรียนชั้นมัธยมที่ ร.ร.ราชวิทยาลัย
พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๕๕ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ล้วนเป็นสถาบันที่เด่นแห่งยุคทั้งสามโรงเรียน
นอกจากเรียนเก่งแล้วยังเป็นนักกีฬาเต็มตัวอีกด้วย สามารถเล่นกีฬาได้ทั้งประเภทลู่และลาน เคยเป็นนักกีฬายอดเยี่ยม ตอนเรียนที่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย คือ เป็นแชมเปี้ยนกีฬานักเรียนประเภทกระโดดสูงและทิ้งน้ำหนัก เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ วิ่งข้ามรั้วก็ได้รับรางวัลที่ ๒ ในปีเดียวกัน
ส่วนกีฬาฟุตบอลเล่นเป็นแบ็คหลังของทีมสวนกุหลาบวิทยาลัย ทำให้โรงเรียนชนะได้โล่ของกรมศึกษาธิการ พ.ศ.๒๔๕๔ นักฟุตบอลชุดนี้เรียนจบแล้ว ไปทำราชการได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวง พระ และ พระยา กันหลายคนเมื่อสำเร็จการศึกษาจาก ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัยแล้ว ได้รับพระราขทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เดินทางโดยเรือจากกรุงเทพฯผ่านสิงคโปร์ไปจนถึงอังกฤษ ใช้เวลา ๕ สัปดาห์
พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๔๕๗ เข้ารับการศึกษาชั้นที่เทียบเท่าหลักสูตรเตรียมอุดมชั้น Matriculation ที่ อิสท์เบิร์น คอลเลจ (Eastbourne College) เป็นนักกีฬายอดเยี่ยม ชนะที่ ๑ ทั้งวิ่งข้ามรั้วและกระโดดสูง
พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๕๙ ศึกษาวิศวกรรมโยธา ที่ King’s College Durham University สอบได้ Intermediate B.Sc.เมื่อเรียนในระดับมหาวิทยาลัยนั้น สงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้น อังกฤษเป็นคู่สงครามกับเยอรมัน ทำให้การเรียนมีอุปสรรคจากการโจมตีทางเรือของฝ่ายเยอรมัน รัฐบาลไทยจึงได้ย้ายพระเจริญวิศวกรรมไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมให้กลับมาเป็นอาจารย์แผนกยันตรศึกษา ในโรงเรียนข้าราขการพลเรือน (ปัจจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เพื่อสอนนักเรียนให้ไปรับราชการในกรมทดน้ำ (กรมชลประทาน) ท่านจึงต้องไปศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธาสาขาชลประทานที่ University of California เมือง Berkeley ปีสุดท้ายก่อนการสอบ ๒ เดือน ได้รับข่าวว่า บิดาถึงแก่กรรม แต่พระเจริญวิศวกรรมสามารถเอาชนะความทุกข์ใจครั้งใหญ่นี้ได้ ตั้งใจเรียนจนสอบได้ ปริญญาตรีวิศวกรรมโยธา (B.Sc. in Civil Engineering) ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ และ ฝึกงานอีก ๒ เดือน จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ตำแหน่งหน้าที่ราชการ
พระเจริญวิศวกรรมเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๒ ทำหน้าที่สอนและเป็นผู้บริหาร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การกีฬาฟุตบอลเฟื่องฟูมาก พระองค์ทรงนำกีฬานี้จากอังกฤษเข้ามาเผยแพร่ และทรงเป็นสภานายกสมาคมฟุตบอลด้วยพระองค์เองด้วย มีการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานทุกปี ในฐานะนักฟุตบอลเก่าและนักเรียนนอก พระเจริญวิศวกรรมจึงมีภารกิจนอกเวลาราชการ ลงซ้อมและเข้าแข่งขันในนามทีมสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนเมื่อมารับตำแหน่งบรรยเวกษ์ มีหน้าที่ควบคุมคณะกรรมการสโมสร จึงต้องเลิกเล่น เปลี่ยนจากนักฟุตบอลเป็นผู้จัดการทีม ยังคงเกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลทั้งประเภทนักเรียนและข้าราชการ โดยเป็นผู้ตัดสินที่เฉียบขาดและยุติธรรม
พ.ศ.๒๔๗๐ เลื่อนบรรดาศักดิ์จากหลวงเป็นพระเจริญวิศวกรรม
๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๒ เป็นคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมดาจาก ๓ ปี เป็น หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง ๔ ปี
พ.ศ.๒๔๗๔ แบ่งการเรียนเป็น ๓ แผนกคือ แผนกวิศวกรรมโยธา แผนกวิศวกรรมเครื่องกล แผนกวิศวกรรมไฟฟ้า โดยให้นิสิตเรียนร่วมกันทุกวิชาใน ๓ ปีแรก และแยกเรียนตามแผนกวิชาในปีสุดท้าย
พ.ศ.๒๔๗๖ ประกาศใช้หลักสูตรปริญญาเป็นครั้งแรก ปรับปรุงโรงประลองต่างๆให้นิสิตได้ทำการทดลอง ได้จัดหาศาสตราจารย์ชาวต่างประเทศที่มีวุฒิปริญญาเอกมาสอนเป็นครั้งแรกและนิสิตได้รับปริญญาเป็นรุ่นที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๔๗๘
พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นคณบดี ควบหัวหน้าแผนกวิศวกรรมโยธา
พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นคณบดี ควบหัวหน้าแผนกสถาปัตยกรรม
พ.ศ.๒๔๙๑, พ.ศ.๒๔๙๕ รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระเจริญวิศวกรรมเป็นทั้งครู ผู้ฝึกการประลองและเป็นผู้วางแผนการขยายคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ทันความเจริญของโลกอยู่ตลอดเวลา ได้เพิ่มหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นอีกหลายสาขา อาทิ เหมืองแร่อุตสาหการ สำรวจ สุขาภิบาล(วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) และเมื่อย้ายคณะออกไปจากอาคารทรงไทย (ตึกคณะอักษรศาสตร์ในปัจจุบัน) พระเจริญวิศวกรรมได้ออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ด้วยตนเอง คือ ตึก ๑ กล่าวได้ว่า วิศวกรรมศาสตร์ฝังอยู่ในสายเลือด และรักคณะวิศวกรรมศาสตร์
ท่านมีฉันทาคติว่า“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์”
เมื่อหลานตนสอบเข้าเรียนไม่ได้ เพราะได้ตั้งมาตรฐานการสอบเข้าไว้สูง ท่านได้รับความกระเทือนใจไปพักหนึ่ง
เมื่อหลานตนสอบเข้าเรียนไม่ได้ เพราะได้ตั้งมาตรฐานการสอบเข้าไว้สูง ท่านได้รับความกระเทือนใจไปพักหนึ่ง
ผลงานสำคัญ
ท่านยังได้ช่วยงานก่อสร้างถาวรวัตถุในกรุงเทพฯโดยไม่มีใครทราบแม้แต่ศิษย์เก่าของท่านถึง ๒ งาน
๑. การวางท่อน้ำประปาจากฝั่งพระนครไปยังโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นงานที่รับสนองพระราขดำริจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราขนก(ในรัชกาลที่ ๘/๙) ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยและผู้บัญชาการโรงพยาบาลศิริราช ทำให้โรงพยาบาลศิริราชเป็นอาคารแห่งแรกของฝั่งธนบุรีที่มีนำ้ประปาใช้
๒. ออกแบบก่อสร้างอัฒจันทร์สนามศุภชลาศัยฝั่งตะวันตก(ฝั่งที่ประทับ) หลังคาเปลือยไม่มีเสา ซึ่งยังไม่เคยมีการสร้างมาก่อน ผลงานนี้บรรดาศิษย์มารู้กันเมื่ออ่านหนังสืออนุสรณ์งานพระราขทานเพลิงศพ
บุตรสาวท่านเล่าไว้ว่า
“วันหนึ่งตอนบ่ายมีการแข่งขันกีฬาที่ปทุมวัน เสียงเชียร์ดังลอยตามลมมาถึงบ้านที่ซอยรื่นฤดีได้ยินชัด คุณพ่อซึ่งนั่งรับประทานนำ้ชาอยู่ได้ปรารภขึ้นมาลอยๆว่า เมื่อครั้งที่ออกแบบก่อสร้างอัฒจันทร์นั้น ไม่ได้คิดว่าจะมีเสียงเชียร์ดังกึกก้องถึงเพียงนี้ จึงมิได้คำนวณแรงสั่นสะเทือนของเสียงที่อาจมีต่อสิ่งก่อสร้างไว้ด้วย แต่ถึงแม้ว่าอัฒจันทร์เกิดพังลงมาเดี๋ยวนี้ พ่อก็ไม่เสียชื่อ เพราะรับประกันไว้แค่ ๒๕ ปีเท่านั้น…”
พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชากราฟิคสถิตศาสตร์ (Graphic Statics) ที่ ร.ร.เทคนิคทหารบก (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ต่อมาเป็น ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า พ.ศ.๒๔๙๔)
พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นกรรมการป้องกันภัยทางอากาศ
พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นราชบัณฑิต ในวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์
พ.ศ.๒๔๙๒-๒๔๙๔ เป็นกรรมการออกแบบทางวิ่งสนามบินดอนเมือง
พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมประชุมกับมหาวิทยาลัยโลก ณ เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส และยังเป็นผู้รักษาการคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๔ อีกตำแหน่งหนึ่ง
พระเจริญวิศวกรรมเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ ขณะรับเงินเดือน ๑,๓๐๐ บาท แต่ด้วยเป็นผู้มีคุณงามความดี มีความรู้ ความสามารถ มีความผูกพันต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นอย่างมาก จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยจึงต่ออายุราชการให้อีก ๕ ครั้งๆ ๑ ปี จึงพ้นราชการจริงๆเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔
พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๗ เป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำโขงฝ่ายไทย
พ.ศ.๒๕๐๕ รับพระราขทานปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ.๒๕๐๗ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะวิศวกรรมศาสตร์
พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
พระเจริญวิศวกรรมเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นยอดครู วิธีถ่ายทอดความรู้นั้นใช้เขียนสรุปบนกระดานดำให้ศิษย์จด ไม่ต้องไปซื้อตำราฝรั่งราคาแพง ในสมัยนั้นมีการบ้านให้ศิษย์ทำทุกครั้ง และท่านจะตรวจการบ้านด้วยตนเองทุกฉบับ การเสนอวิทยานิพนธ์ก็ให้ทั้งแนวคิดและแนวทางการค้นคว้า จนกระทั่งคะแนนผลการทำงาน ท่านมีศิลปะการสอนที่แพรวพราว ไม่ทำให้ศิษย์เบื่อหน่าย และยังแทรกคติพจน์ ปรัชญาทั้งไทยและเทศประกอบเป็นคำขวัญ เตือนใจให้ศิษย์เก็บไว้จำตามโอกาสต่างๆ เช่น คนที่ชอบมาสายท่านเตือนศิษย์โดยยกคำพูดของ ดยุค แห่งเวลลิงตัน ที่รบชนะพระเจ้านโปเลียนว่า“I owe all my victory to being five minutes early for every battle’ข้าพเจ้ารบชนะทุกคร้ังเพราะมาถึงก่อนข้าศึก ๕ นาที
พระเจริญวิศวกรรม สมรสกับ น.ส.อรุณ ชูพันธ์ บุตรสาวคนโตของขุนและนางพินิจพัสดุ เมื่อ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ขณะที่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ได้รับการประกอบพิธีสมรสพระราชทานจาก กรมขุนสงขลานครินทร์ และพระราชทานเลี้ยงนำ้ชาฉลองสมรส ณ วังสระปทุมด้วย มีบุตร ๔ คน
๑. นางอุษา เวย์ส (อ.บ. จุฬาฯ, B.A. London), สมรสกับ นายยอร์ช เฟรเดอริค เวย์ส
๒. นายจุลวัฒน์ เชนะกุล (วศ.บ. จุฬาฯ, M.S. Univ Michigan)
๓. นางนิศา เชนะกุล (อ.บ. จุฬาฯ)
๔. นางนงนุช ทองเจือ (อ.บ. จุฬาฯ)
เครื่องราขอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๙ และ เหรียญจักรพรรดิมาลา
พ.ศ.๒๔๖๖ ได้เป็นอำมาตย์โท
พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นหลวงเจริญวิศวกรรม
พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นพระเจริญวิศวกรรม
พระเจริญวิศวกรรมเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เพราะรักษาอนามัยอย่างดีตลอดมา ไม่ใคร่ปรากฎว่าเจ็บไข้ได้ป่วย ออกกำลังกายด้วยการเดินทุกวัน รักษานำ้หนักตัวให้คงที่อยู่เสมอ จนกระทั่งอายุ ๘๖ ปี จึงมีอาการของโรคหัวใจปรากฎขึ้น เข้าตรวจและรักษาตัวใน ร.พ.พระมงกุฎราว ๑ สัปดาห์ ก็หายเป็นปกติ เคยผ่าตัดรักษาต้อกระจกที่ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ จึงแลเห็นชัดเจนตามเดิม ประสาทหูนั้นดีเหมือนคนในวัยหนุ่มแน่น
ท่านเป็นผู้เห็นความเจริญของบ้านเมืองถึง ๕ แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเพิ่งมีไฟฟ้าใช้ในกรุงเทพฯเพียงแห่งเดียว จนได้เห็น สะพานพระราม ๙ ซึ่งเป็นสะพานขึงระนาบเดี่ยวยาวที่สุดในโลก ทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ท่านได้เห็นผลงานของศิษย์ปรากฏเป็นตึกระฟ้า สะพาน ถนน เขื่อน ฯลฯ อยู่ทั่วประเทศ
จนกระทั่ง วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ท่านมีอาการตัวร้อนจัด หายใจไม่สะดวก ลูกๆต้องเรียกรถพยาบาลจาก ร.พ.บำรุงราษฎร์ แต่อาการหนักมาก จนถึงอนิจกรรมในวันนั้นเอง สิริอายุรวมได้ ๙๒ ปี ๒ เดือน ๑๖ วันเหลือแต่คติพจน์อันอมตะไว้ให้บรรดาศิษย์จำตลอดไป
มโนเนติสสาร จิตเคลื่อนสสาร
Mind moves Matter
ด้วยความคิดของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปได้
Mind moves Matter
ด้วยความคิดของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปได้
ที่มา
๑. หนังสือประวัติครู พ.ศ.๒๕๓๒, คุรุสภา ผู้เขียน : วิชา เศรษฐบุตร
๒.หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงฯพระเจริญวิศวกรรม
๒.หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงฯพระเจริญวิศวกรรม
* เจริญ ศราภัยวณิช , หนังสือสวนกุหลาบอนุสรณ์ ๒๔๙๙
** เจริญ เชนะกุล, วิกิพีเดียโดยก่อนหน้านั้น พระเจริญวิศวกรรม ใช้นามสกุลเดียวกับพี่ชายร่วมมารดา พระยาศราภัยพิพัฒ(เลื่อน ศราภัยวานิช) หนึ่งในกบฏบวรเดช คือ “ศราภัยวานิช” จนต้องเปลี่ยนมาเป็น “เชนะกุล” ตามเหตุการณ์และกาลสมัย