เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่ลานเกียร์ (อีกครั้ง) “ศักดิ์ชัย ยอดวานิช”

เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่ลานเกียร์ (อีกครั้ง) “ศักดิ์ชัย ยอดวานิช”

บทสัมภาษณ์พิเศษ พี่หนู-ศักดิ์ชัย ยอดวานิช มือประสานสิบทิศ “INTANIA Connection” จากนักธุรกิจหนุ่มแห่งค่ายเสรีชัยยุทธภัณฑ์ ผันตัวเข้าสู่แวดวงการศึกษามากว่า 2 ทศวรรษ รั้งตำแหน่งนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มานานถึง 12 ปี หนุนส่งให้โรงเรียนแห่งนี้พรั่งพร้อมทุกด้านจนชื่อชั้นของ “สาธิตจุฬาฯ” นั้นไม่เป็นสองรองใครในแผ่นดิน และทันทีที่สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) เผยชื่อของเขาออกมาในฐานะ “นายกสมาคม” คนใหม่ จึงทำให้ชาวอินทาเนียหลากรุ่นหลายวัยคึกคักและจับจ้องมองดูการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้อย่างใจจดจ่อ รอให้ “ถนนทุกสายมุ่งตรงสู่ลานเกียร์” (อีกครั้ง)
ศักดิ์ชัย ยอดวานิช
ศักดิ์ชัย ยอดวานิช มีชื่อเล่นว่า “โป้” หรือที่พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ วิศวฯ จุฬาฯ รู้จักกันดีในนามของ “พี่หนู” เพิ่งฉลองอายุครบ 59 ปี ไปหมาด ๆ ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยหากย้อนเวลากลับไปช่วง พ.ศ.2524 เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลแล้ว ได้เลือกเข้าศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นสมาชิก วศ.2524
“ตื่นเต้นและภูมิใจอยู่ไม่น้อยนะครับที่สอบเข้ามาเรียนที่วิศวฯ จุฬาฯ ได้ นับเป็นความใฝ่ฝันของเด็กผู้ชายสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ วิศวฯ จุฬาฯ นี่เป็นที่หนึ่ง สุดยอดแล้ว ใครที่ได้เข้าเรียนที่นี่ได้ก็ต้องยืดเป็นพิเศษหน่อย เพราะมันเท่ (หัวเราะ) และยังเป็นเหมือนของขวัญให้แก่ตัวเราเอง หรือบางคนบอกว่าเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิตนักเรียนที่ขยันและตั้งใจสอบเข้าจุฬาฯ มาได้ก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งสาขาที่ผมเลือกเรียนคือวิศวกรรมไฟฟ้า เมื่อเข้ามาเรียนบรรยากาศการเรียนอิสระมาก จะเข้าเรียนหรือไม่เข้าก็ไม่มีใครสนใจ เพียงแต่เราก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง เพราะโตแล้ว เป็นนิสิตไม่ใช่นักเรียนแล้ว ซึ่งนอกจากเรียนก็ยังเผื่อใจให้เวลากับการทำกิจกรรมด้วย โดยในเทอมต้นผมได้เข้าไปอยู่ในทีมนักโต้วาทีน้องใหม่ของคณะ ได้ลงสนามแข่งขันในหมู่นิสิตใหม่ด้วยกันจนในที่สุดก็ได้รางวัลชนะเลิศมาฝากเพื่อน ๆ จากนั้นเทอมปลายก็หันมาเอาดีกับกีฬาบริดจ์ เรียกว่าฝึกเล่นจนได้เป็นนักกีฬาจะคว้าเหรียญเงินมาฝากชาวจุฬาฯ ได้อยู่เหมือนกัน
ส่วนผลการเรียนทั้ง 2 เทอมนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ผมเองก็พอใจ ได้เกรดเฉลี่ยอยู่ราว ๆ 2.60-2.70 ถือว่าหล่อพอประมาณ (ยิ้มเบา ๆ) แต่หลังจากจบปี 1 ก็มานั่งทบทวนดู ถึงทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่า ผมชอบสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ มากกว่า ไหนจะต้องกลับมาสานต่อกิจการงานของครอบครัวด้วย จึงตัดสินใจร่ำลาเพื่อน ๆ และย้ายไปเรียนสาขาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (University of Southern California)” พี่หนูเล่าให้เราฟังถึงช่วงชีวิตในรั้วจามจุรี
หลังจากจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาแล้ว คุณศักดิ์ชัยได้นำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ กลับมาบริหารกิจการครอบครัวคือ บริษัท เสรีชัยยุทธภัณฑ์ จำกัด จนเจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจไว้ แม้ว่าจะแยกย้ายกันไปตามวิถีของแต่ละคน แต่ความผูกพันกันของกลุ่มเพื่อนจุฬาฯ นั้นยังคงแนบแน่น นานวันขึ้นยิ่งแน่นแฟ้นตามวัยที่เติบโต จนล่วงเข้าสู่ พ.ศ. 2547 คุณศักดิ์ชัยได้หวนคืนสู่รั้วจุฬาฯ อีกครั้งในบทบาทของ ‘พ่อ’ ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลทั้งลูกตนเองและ ลูกคนอื่นควบคู่กันไปในฐานะ ‘นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’
“ลูกชายผมทั้ง 2 คนได้เรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จึงทำให้ผมมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับโรงเรียน ได้รู้จักกับคณาจารย์ ได้พบปะเพื่อนผู้ปกครองด้วยกัน แลกเปลี่ยนทัศนะการเลี้ยงดูลูก ตั้งใจปลูกฝังบ่มเพาะให้เขาเติบโตขึ้นเป็นคนดีที่มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน จนได้รับความไว้วางใจจากคุณครูและผู้ปกครองด้วยกันให้เป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูยาวนานถึง 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเรากรรมการสมาคมสนับสนุนโรงเรียนอย่างเต็มที่ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งการจัดการเรียนการสอน ปรับปรุงรูปแบบตำราเรียน ปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างอาคารเรียนและห้องเรียนปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย หากโรงเรียนมีปัญหาอะไรเมื่อได้หารือกันแล้วเห็นแนวทางแล้วก็ต้องทำเลยอย่างรวดเร็ว ต้องให้ได้ทันใช้ เห็นปัญหาถ้าแก้ได้ต้องแก้เลย อย่ามัวรอพึ่งพางบประมาณภาครัฐอย่างเดียว เพราะบทบาทของเราคือเข้ามาเพื่อสนับสนุน ติดขัดขาดเหลือบอกกัน จนผมกล้าพูดได้เลยว่า วันนี้โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีชีวิตชีวาขึ้นและต่างจากโรงเรียนอื่นในประเทศไทยไปมาก” คุณศักดิ์ชัยในฐานะอดีตนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

เมื่อได้ปวารณาตัวตั้งใจเข้ามาพัฒนาแวดวงการศึกษาแล้ว ไม่เพียงแต่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เท่านั้นที่อยู่ในความสนใจของคุณศักดิ์ชัย แต่พี่หนูยังได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งผูกพันกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิมในฐานะนิสิตเก่า วศ.2524

จะว่าไปแล้ว ผมก็ไม่ได้ไปไหนไกลจากวิศวฯ จุฬาฯ เลยนะ เราเคยเรียนที่นี่ ลูกชายผมทั้ง 2 คนพอจบ ม.6 จาก โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก็เข้ามาเป็นรุ่นน้องที่วิศวฯ จุฬาฯ ด้วยเช่นกัน ครอบครัวเราจึงผูกพันอยู่กับลานเกียร์ และได้เข้ามามีส่วนร่วมในหลายกิจกรรมของทั้งคณะและสมาคมนิสิตเก่าฯ โครงการดี ๆ มีเข้ามาผมก็สนับสนุน เป็นกำลังใจให้พี่เราน้องเราไม่ได้ขาด อย่างช่วงที่เราจะฉลองคณะครบ 100 ปี คณะวิศวฯ จุฬาฯ เคยมีดำริว่าอยากสร้างอาคารไว้ให้เป็นอนุสรณ์ในโอกาสสำคัญนี้มาตั้งแต่สมัยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ เป็นคณบดีแล้ว และคาดว่าจะได้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลอยู่ราว 220 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอ ยังขาดงบประมาณอยู่อีก 90 ล้านบาท จึงยังไม่ได้ตัดสินใจดำเนินโครงการ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัย รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ เป็นคณบดี ผมเองในฐานะประธานรุ่น วศ.2524 ซึ่งขณะนั้น ได้ชักชวนเพื่อน ๆ จัดกิจกรรมกอล์ฟการกุศลหาเงินมอบให้คณะอยู่แล้ว จึงได้มีโอกาสหารือพูดคุยกันกับท่านคณบดีจนทราบความตั้งใจดีที่ท่านอยากผลักดันสร้างตึก 100 ปี ให้สำเร็จจงได้ ผมจึงได้เชิญท่านมาเยี่ยมชมอาคาร 50 ปี โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งเป็นโครงการที่สมาคมผู้ปกครองและครูร่วมกันสนับสนุนตั้งแต่ริเริ่มจนแล้วเสร็จ ได้แลกเปลี่ยนกันถึงรูปแบบการหาเงินสนับสนุนส่วนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไปในแนวทางลงขันกันตามความสมัครใจในหมู่นิสิตเก่าด้วยกัน จากนั้น รศ. ดร.บุญสม จึงได้ชวนให้ผมเข้าไปเสนอแนวคิดนี้ในที่ประชุม สวจ. ซึ่งพี่ ๆ กรรมการ สวจ. ขณะนั้นก็ได้กรุณารับเอาแนวคิดและแนวทางนี้ไปดำเนินการ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเชิญชวนให้พวกเรานิสิตเก่าได้มาร่วมกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธา ไม่มีใครบังคับใคร ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ให้กันมาด้วยใจในแบบที่ต้องเรียกว่าถนนทุกสายมุ่งสู่ลานเกียร์คับคั่ง จนภายในเวลาอันรวดเร็ว เราก็สร้างอาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬาฯ ได้สำเร็จ
จากความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น ยังเป็นต้นแบบให้เกิดสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมที่ชาวอินทาเนียได้ร่วมกันนำความรู้ความสามารถมาขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแน่นอนว่าคุณศักดิ์ชัย ได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤตโควิด-19 ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์และสมาคมนิสิตเก่าได้ให้ความช่วยเหลือสังคมอย่างเร่งด่วนผ่านโครงการมากมาย อาทิ “ถุงปันน้ำใจ” นับพันถุงดูแลชุมชนรอบจุฬาฯ หุ่นยนต์ช่วยหมอชุด CU-RoboCOVID ทั้งน้องปิ่นโต น้องกระจก รถความดันบวก รถตรวจวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จนเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่ประชุมใหญ่สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) ได้มีมติเลือก คุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช วศ.2524 ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม วาระ พ.ศ. 2565-2566 ต่อจากคุณอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์

เมื่อได้รับมอบหมายมาแล้ว ผมก็จะทำเต็มที่ให้สมกับที่พี่ ๆ น้อง ๆ ได้ไว้วางใจให้ผมทำหน้าที่นายกสมาคม ไม่มีอะไรที่ต้องหนักใจ กลับกัน ต้องภูมิใจมากกว่าที่ได้มีโอกาสเข้ามารับใช้สถาบันที่เคยประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ตัวเรา ผมต้องบอกว่าระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปีนั้นสั้นกระชับ แต่ยังอยู่ในวิสัยที่พวกเราคณะกรรมการบริหารสมาคมจะก่อร่างสร้างงานใหม่ที่เราตั้งใจจะทำกันได้ รวมถึงสานงานต่อจากพี่หมู อดิศักดิ์ ที่ท่านเองก็ตั้งใจทำเพื่อวิศวฯ จุฬาฯ ไม่น้อยเลยเช่นกัน หลักใหญ่ของ สวจ. คงเป็นเรื่องกิจกรรม สานสัมพันธ์ฉันน้องพี่ในหมู่พวกเราชาวอินทาเนียหรือจะเรียกให้โก้หรูดูอินเตอร์ก็คือ “INTANIA Connection” ซึ่งพวกเราเองก็เป็นหลักให้แก่ประเทศในหลายวงการ หลายอุตสาหกรรม ทั้งกิจการงานโยธาก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก กิจการสื่อสารโทรคมนาคม กิจการพลังงานไฟฟ้า ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เหมืองแร่ และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมไปถึงภาคการเงิน การคลัง การธนาคาร และการเมือง ล้วนแล้วแต่มีผลผลิตจาก “วิศวฯ จุฬาฯ” เข้าไปเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนให้ทุกวงการพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้เรายังมีสมาชิก สวจ. หลากวัยหลายรุ่นร่วมอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่เราต้องให้โอกาสเปิดพื้นที่ให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับพี่โต ๆ อย่างใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ผมอยากชวนให้พี่น้องเรากลับมาช่วยสถาบัน เกียรติภูมิและภูมิประวัติของเราโดดเด่นไม่แพ้ใคร เมื่อผนึกกำลังกันไว้ได้อย่างแน่นหนาแล้ว ไม่ว่าเราจะขับเคลื่อนงานหรือโครงการใดย่อมมีพลังและมองเห็นความสำเร็จชัดเจนแน่นอน นายกศักดิ์ชัยกล่าวอย่างเปิดใจด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม

นอกจากโครงการและกิจกรรมที่ สวจ. ดำเนินงานตามแผนอยู่แล้ว ยังมีโครงการเร่งด่วนที่คุณศักดิ์ชัยตั้งใจเข้ามาผลักดันและขับเคลื่อนให้สำเร็จลุล่วงแข่งกับเวลาอันสั้น นั่นคือโครงการปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในโอกาสสถาปนาคณะครบ 110 ปี

“หอประชุมวิศวฯ ของเรานี่สร้างมานานมากแล้วนะครับ ครั้งหนึ่งเคยทันสมัยสุด ๆ เมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันก็ทรุดโทรมลงไปมากตามอายุขัย ระบบเครื่องปรับอากาศก็ดี ระบบไฟส่องสว่างก็ดี ระบบเครื่องฉายภาพต่าง ๆ ก็ดี ไหนจะชุดเก้าอี้ที่นั่งอีก เขาก็รับใช้ดูแลพวกเรามาเต็มความสามารถของเขาแล้วนะ น่าจะถึงเวลาที่เราต้องดูแลหอประชุมคณะของพวกเราบ้างแล้ว ก็ได้เวลาต้องปรับปรุงใหญ่ ที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ผมริเริ่มขึ้น หากแต่เป็นทาง สวจ. ชุดก่อนได้เริ่มตั้งไข่ไว้แล้ว แต่มาเป็นรูปเป็นร่างในช่วงที่ผมเข้ามารับตำแหน่งนายก สวจ. พอดี พวกเราจึงตั้งใจจะปรับปรุงหอประชุมนี้ให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อรองรับอนาคต รองรับการเรียนการสอนสมัยใหม่ รองรับยุค Metaverse ที่มาถึงแล้ว ให้น้อง ๆ นิสิตได้เข้ามาใช้ทำกิจกรรมที่หลากหลายตามความถนัด ตามความสนใจของเขา”

“ไม่ใช่แค่การปรับภูมิทัศน์นะครับ แต่ต้องรวมถึงระบบ IoT ต่าง ๆ ด้วย ให้รองรับการเชื่อมโยงกับคนทั้งโลก จะเรียน จะสอน จะประชุมกันในโลกจากแห่งหนตำบลไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโลกจริงหรือโลกเสมือนก็ตาม เราตั้งใจให้หอประชุมวิศวฯ จุฬาฯ เป็นหอประชุมรองรับอนาคต เป็นประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ยุวชนของพวกเรา และต้องไม่ลืมว่าพวกเรานิสิตเก่าเองก็มีโอกาสได้กลับมาใช้ด้วยเช่นกัน เพราะที่นี่คือหอประชุมของพวกเราทุกคน เราเคยนั่งประชุมเชียร์ เคยร้องเพลงด้วยกัน เคยใช้เรียนหนังสือ เคยใช้ทำกิจกรรม ที่แห่งนี้เป็นสถานที่บันทึกความทรงจำของพวกเราทุกคน และมันยังคงจะทำหน้าที่เช่นนั้นต่อไปในบริบทใหม่ตามโลกที่หมุนไปครับ”
แม้โครงการปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวกรรศาสตร์ จุฬาฯ จะเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องอาศัยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท แต่คุณศักดิ์ชัยก็ยังมั่นใจในพลังของ INTANIA Connection และพร้อมกรุยทางให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ลานเกียร์ (อีกครั้ง)
เรากำลังเร่งดำเนินการให้งานปรับปรุงหอประชุมคณะมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทนี้สำเร็จเสร็จได้ทันก่อนเปิดเทอมใหม่ เพื่อต้อนรับน้องนิสิต วศ.2566 เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลาที่งวดเข้ามาแล้ว และยังต้องการการสนับสนุนจากพี่ ๆ นายช่างวิศวฯ จุฬาฯ ที่มีจิตศรัทธากลับมาร่วมมือร่วมใจร่วมกันบริจาคเงินเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ครับ เพราะเราไม่มีงบประมาณจากภาครัฐเลย ขณะเดียวกันเราก็รอไม่ได้แล้ว จึงต้องทำเลยทันทีโดยความคืบหน้า สวจ. ได้คัดเลือกแบบไว้แล้ว
และคาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแบบให้แล้วเสร็จได้ภายในไม่เกิน 2 เดือนนี้ สวจ. เองต้องขอขอบพระคุณหน่วยงาน องค์กร บริษัท ห้างร้าน และพี่นิสิตเก่าที่ได้เริ่มสนับสนุนสมทบทุนกันเข้ามาบ้างแล้ว
ล่าสุด นายกและกรรมการบริหารสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เองก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกันกับพวกเรา จึงได้มอบเงินสนับสนุนเบื้องต้นจำนวน 4 ล้านบาท และเรายังเปิดรับบริจาคเงินสนับสนุนจากทุกท่านอยู่นะครับ เมื่อท่านทราบและเราเองก็มีจุดหมายปลายทางเดียวกันแล้ว
“ผมในฐานะนายก สวจ. ก็พร้อมกรุยทางให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ลานเกียร์เพื่อให้ภารกิจของพวกเราบรรลุสมดังที่พวกเราตั้งใจดีกันในคราวนี้อีกครั้งนะครับ” พี่หนู ศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายก สวจ. กล่าวทิ้งท้าย.

ถอดรหัสมิจฉาชีพออนไลน์ : รู้เท่าทันก่อนตกเป็นเหยื่อ

ถอดรหัสมิจฉาชีพออนไลน์ : รู้เท่าทันก่อนตกเป็นเหยื่อ เรื่องที่ทุกคนควรรู้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศชาติ

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) ร่วมกับ น้องๆกรรมการนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ (กวศ.) ร่วมกันจัด Climate Fresk Workshop

เมื่อวันศุกร์ทึ่ 9 สิงหาคม สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) ร่วมกับ น้องๆกรรมการนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ (กวศ.) ร่วมกันจัด Climate...

Scroll to Top

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?