ดร. สาธิต วิทยากร วศ.24 ผู้สร้าง PRINC องค์กรที่สร้างคนมีจิตใจเป็นผู้ช่วยเหลือคนในชุมชนและสังคม

ดร. สาธิต วิทยากร วศ.24 กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน)

“ธุรกิจ Health Care ที่มากกว่าการทำธุรกิจ แต่เป็นการช่วยเหลือคนในชุมชนและมอบสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม”


“สิ่งสำคัญของ Hospital Management คือ เรื่องของ “คน” เพราะโรงพยาบาลเป็นธุรกิจบริการ เราจะสร้าง Inspiration ให้เขาสามารถทำงานให้กับเราอย่างไร เพราะทุกคนมีเป้าหมายในการทำงาน และอยากทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ”

นอกจากการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ การมีหัวใจเป็นผู้ให้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีความก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน ดร.สาธิต วิทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันในชื่อ PRINC องค์กรที่สร้างคนมีจิตใจเป็นผู้ช่วยเหลือคนในชุมชนและสังคม ตามความตั้งใจตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ Health Care รวมทั้งยังเป็นบุคคลที่ได้รับตำแหน่งวิศวฯ จุฬาฯ ดีเด่นประจำ พ.ศ. 2564 อีกด้วย

ประสบการณ์สมัยเรียนคณะวิศวฯ จุฬาฯ
สมัยเรียนที่วิศวฯ จุฬาฯ ส่วนตัวผมจะชื่นชอบในกีฬาบาสเกตบอล จึงได้สมัครเข้าชมรมบาสเกตบอลและลงแข่งขันมาตลอดตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – ชั้นปีที่ 4 และประทับใจมากเพราะว่าส่วนใหญ่จะได้แชมป์และถ้าปีไหนน้อง ๆ ปี 1 แข่งขันไม่ชนะจะมีกิจกรรมทำโทษด้วยการโดดสระ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผมรู้สึกถึงความแปลกใหม่ รวมทั้งมีเพื่อนใหม่ ๆ และรุ่นพี่ที่คอยดูแลตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 พอขึ้นชั้นปีที่ 2 เราก็ต้องทำหน้าที่ดูแลน้องปี 1 เป็นระบบขั้นบันไดเหมือนที่รุ่นพี่ดูแลเราสมัยที่เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยปีแรก ถือว่าเป็นการเรียนรู้ระบบ Security ที่ดีจากชมรมกีฬาตั้งแต่ช่วงชั้นปีที่ 1 นอกจากนี้ยังมีโอกาสร่วมกิจกรรมเข้าค่ายและทำกิจกรรมกับภาควิชาวิศวฯ เครื่องกลในช่วงชั้นปีที่ 3 ทำระบบ Pneumatic เป็นการทำระบบลมของเครื่องดูดกระดาษ ซึ่งเป็นงานวิจัยเล็ก ๆ ที่มีโอกาสได้เข้าประกวดและออกงาน Fair รวมถึงได้เข้าร่วมจัดทำโครงการรถประหยัดพลังงานกับรุ่นพี่ ทำให้ได้รู้จักเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถทำชิ้นงานออกมาได้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สนุกและได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง

แนวความคิดของวิศวฯ สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจ Health Care ได้
เนื่องจากคุณพ่อทำงานที่โรงพยาบาล หลังจากนั้นผมเองก็ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานและเรียนรู้ในโรงพยาบาลตามคุณพ่อ แต่เนื่องจากผมเรียนจบวิศวฯ เครื่องกล คุณพ่อจึงให้ไปเรียนรู้ระบบเครื่องปรับอากาศในโรงพยาบาลในสมัยนั้น ผมจึงจัดระบบบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ 200 – 300 ตัว และจากประสบการณ์ที่ได้ทำ จึงทำให้ตัวผมเองได้เข้าไปเรียนรู้ระบบต่าง ๆ ของโรงพยาบาลในช่วงนั้น หลังจากนั้นได้เรียนรู้ในเรื่องของ HR และได้เข้าศึกษาต่อที่ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะใช้คนจำนวนมาก ต่อมาก็ได้ทำระบบบัญชี จัดซื้อ และ HR ของโรงพยาบาล เพราะในช่วงนั้นคนที่ใช้คอมพิวเตอร์เก่ง ๆ จะไม่ค่อยมี เราเลยได้มีโอกาสได้ดูแลระบบต่าง ๆ ในโรงพยาบาลโดยใช้ความรู้จากวิศวฯ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการให้เป็นระบบที่ดี ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เรารู้ระบบหลังบ้านของโรงพยาบาลทั้งหมด ยกเว้นเรื่องหมอ พยาบาล แต่เราจะคอย Support ทำให้หมอและพยาบาลทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในสมัยนั้นผมยังมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดตั้งแต่ช่วงเริ่มเปิดโรงพยาบาล ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อไหร่ที่เห็นการตรอกเสาเข็มของโรงพยาบาลจะรู้ทันทีว่าต้องทำอะไรต่อบ้าง จึงเป็นที่มาของคำว่า Hospital Management ซึ่งกลายมาเป็นอาชีพของผมตลอด 35 ปีที่ผ่านมา…

จุดเริ่มต้นของ พริ้นซิเพิล กับแนวคิด “สร้างคนมีจิตใจเป็นผู้ช่วยเหลือคนในชุมชนและสังคม”
เนื่องจากในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลที่เป็นทางเลือกให้กับคนที่มีฐานะที่ดีอยู่มากแล้ว รวมทั้งประสบการณ์ของคุณพ่อที่เคยเจอมาตั้งแต่สมัยวัยเด็กที่คุณย่าเสียชีวิตตั้งแต่สมัยเรียนเพราะไม่มีคุณหมอคอยดูแลในโรงพยาบาลที่ต่างจังหวัด รวมทั้งประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่สะสมมานานและคิดว่าธุรกิจ Health Care มีเรื่องที่น่าสนใจอีกเยอะจึงตัดสินใจเปิด บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ขึ้นมา โดยการเทคโอเวอร์จากบริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาเป็นธุรกิจ Health Care โดยจุดประสงค์หลักคือ เปิดโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลที่มีโรงพยาบาลเอกชนรองรับไม่เพียงพอ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นเมืองรองและเป็นพื้นที่ ๆ คนไม่ค่อยรู้จัก เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดศรีสะเกษ
ภายใต้แนวคิดหลักของ พริ้นซิเพิล คือ “สร้างคนมีจิตใจเป็นผู้ช่วยเหลือคนในชุมชนและสังคม” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทุกคนต้องทำตาม องค์กรมีหน้าที่สร้างคน สร้างทีมบริหาร ทีมแพทย์ พยาบาล ผู้อำนวยการขึ้นมา เพื่อให้ดูแลคนในสังคมที่เราไปเปิดโรงพยาบาลตรงนั้น เช่น การนำ Local วัสดุของชุมชนมาใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาล รวมทั้งก่อนสร้างโรงพยาบาลเราจะส่งทีมงานไปสัมภาษณ์คนในชุมชนก่อน ว่าในแต่ละชุมชนต้องการอะไรบ้าง มีผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่สามารถนำมาขายในโรงพยาบาลได้บ้าง ซึ่งเรามีการทำงานร่วมกับชุมชนอยู่ตลอด นอกจากนี้เรายังส่งทีมงานเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยตามชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย

พริ้นซิเพิล กับแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
พริ้นซิเพิล ตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Category ใน ESG : Environmental, social, and corporate governance ดูแลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ซึ่งเราอยู่ในหมวดนี้และกำลังจะสมัครเข้า Sustainability Index เพื่อความยั่งยืนขององค์กร ชุมชน และสังคม พริ้นซิเพิล จึงเป็น Health Care สำหรับดูแลคนในชุมชนและสังคม นอกจากนี้ IFC สถาบันการเงินระหว่างประเทศในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพริ้นซิเพิล เพราะชื่นชมในสิ่งที่เราทำ เพราะต้องการเงินไปทำในเรื่องของ Health Care ในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลน

“ใกล้บ้านใกล้ใจ” เป็นคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านที่ดูแลทุกคนด้วยหัวใจ
โรงพยาบาลในเครือ พริ้นซิเพิล มีทั้งหมด 13 โรงพยาบาล และกำลังจะเปิดที่จังหวัดสกลนครในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่ 20 โรงพยาบาล นอกจากนี้ พริ้นซิเพิล ยังเปิดคลินิกชื่อว่า “ใกล้บ้านใกล้ใจ” เป็นคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านที่ดูแลคุณด้วยหัวใจซึ่งตอนนี้ในกรุงเทพฯ ได้เปิดให้บริการทั้งหมด 17 คลินิก ซึ่งเป้าหมายเราจะเปิดให้ครบ 100 คลินิก โดยมีวัตถุประสงค์ คือ ดูแลผู้ป่วยรากหญ้าและรองรับคนในชุมชนต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาลในราคาที่ไม่แพง รวมทั้งดูแลผู้ป่วยโครงการหลักประกันสุขภาพบัตร 30 บาท นอกจากนี้ทางเรายังมีนักสาธารณะสุขดูแลผู้ป่วยตามบ้านที่ไม่สามารถเดินทางมาคลินิกได้ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลและลดคอส ซึ่งจะใช้ระบบเดียวกันในการบริหารทุกคลินิก และมีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางทำหน้าที่ดูแลประวัติของคนไข้ จากเป้าหมาย 100% ตอนนี้เราทำไปแล้วประมาณ 50-60% แล้ว ซึ่งยังมีสิ่งที่เราต้องทำในอนาคตต่อไปเรื่อย ๆ

ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทในธุรกิจ Health Care เพื่อลดต้นทุนและการบริหารจัดการที่ดี
ธุรกิจ Health Care ในอดีตและปัจจุบันมีทั้งความแตกต่างและคล้ายคลึงกัน การตรวจของคุณหมอ และการให้ยากับคนไข้ยังเหมือนเดิม มีเพียงเทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์ที่เปลี่ยนไปมีความทันสมัยมากขึ้น และทุกโรงพยาบาลไม่สามารถมีหมอเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญได้ทุกโรงพยาบาล เราจึงจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลเล็ก ๆ เพื่อรองรับผู้ป่วย หากผู้ป่วยอาการหนักจึงส่งไปที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่มีหมอเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การผ่าตัดหัวใจ โดยการส่งข้อมูลคนไข้ผ่านระบบ EMR – Electronic Medical Record เมื่อคนไข้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นก็จะรู้ประวัติของตัวเองทันที ไม่ว่าจะเป็นประวัติการรักษา ยา และการนัดของแพทย์ ก็จะอยู่ในมือถือของคนไข้

พริ้นซิเพิล เน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยไม่ว่าคนไข้จะไปอยู่ที่ไหนก็สามารถดูประวัติการรักษาของตัวเองได้ทันที รวมถึงเป็นการลดคอส ซึ่งปกติแล้วการลงระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลจะใช้ทุนประมาณ 50 ล้านบาท แต่ใช้งบประมาณไม่กี่ 10 ล้านบาท ดูแลโรงพยาบาลทั้งหมด 13 โรงพยาบาล ทั้งหมดจะเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมโยงกันทั้งหมด
ปัจจุบันได้มีการทำ 5G ติดรถพยาบาล Ambulance มีกล้องติดรถทำให้คุณหมอสามารถตรวจคนไข้ตั้งแต่อยู่ในรถได้ มีคอมพิวเตอร์สามารถตรวจสอบประวัติคนไข้ได้ รวมถึงการจ่ายยาให้กับคนไข้ด้วยเช่นกัน พอรถเดินทางถึงโรงพยาบาลก็จะทำให้คุณหมอทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้นเสมือนคนไข้มาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่อยู่ในรถ Ambulance

พริ้นซิเพิล ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน
พริ้นซิเพิล ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการนำพลาสติกที่ไม่เกิดประโยชน์ในโรงพยาบาลนำมารีไซเคิลให้ออกมาเป็นใยพลาสติกและนำมาทอทำเสื้อผ้า เพราะโรงพยาบาลมีพลาสติกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นโรงพยาบาลแรก ๆ ที่ได้สมัคร Carbon Footprint และนโยบายของ พริ้นซิเพิล คือ การลดปริมาณคาร์บอนไปเรื่อย ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของ Carbon Neutrality รวมทั้งยังเรายังมีแผนในการติดตั้ง Solar Cell ทั้ง 13 โรงพยาบาลเพื่อเป็นการลดการปลดปล่อยคาร์บอน อีกทั้งผ้าที่เราใช้ภายในโรงพยาบาลแต่ละผืนจะมีพิมพ์จำนวนคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยออกมาว่ามีปริมาณเท่าไหร่ เพื่อเป็นการเตรียมแผนการลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงไปเรื่อย ๆ ในอนาคต

เป้าหมายสำหรับธุรกิจ Health Care ในอนาคต
การขยายธุรกิจมีการตั้งเป้าไว้ที่ระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า เน้นในเรื่องของ Digital Transform ในองค์กร มีการทำทีมโดยใช้บุคลากรต่าง ๆ มาทำ โดยให้แต่ละหน่วยงานทำ Project ขึ้นมาแข่งขันกัน มีการประกวดและให้รางวัล ซึ่งจะทำให้มี Digital Transform ในองค์กรมากขึ้น

ในส่วนของโรงพยาบาลก็จะมีการทำเรื่องอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น เรื่องของยาสมุนไพร ซึ่งในศาสตร์สมุนไพรอยู่คู่กับคนไทยมายาวนานถึง 2,000 กว่าปี และสมุนไพรได้ถูกนำมาใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น โควิด-19 ที่ผ่านมา ฟ้าทลายโจรถูกนำมาใช้รักษาโควิด-19 ได้ ซึ่งตอนนี้ทางเราก็ศึกษาในเรื่องของสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ ที่สำคัญอีกเรื่อง คือ อาหาร เนื่องจากปัจจุบันผักและผลไม้ที่เราให้คนไข้ทานทุกวันมีสารพิษตกค้างค่อนข้างเยอะอาจจะทำให้กลายเป็นโทษได้เราจึงอยากมีไร่ เรา Certify เพื่อนำมาใช้ในโรงพยาบาล และเป็นการสนับสนุนเกษตรในชุมชนด้วย

อนาคตธุรกิจ Health Care จะเปลี่ยนไปจะไม่ใช่เรื่องของคนไข้กับหมอ แต่จะเป็นเรื่องของการจ่ายเงินของคนไข้เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ต้องศึกษาเรื่องประกันมากขึ้น เพราะพฤติกรรมคนเราเปลี่ยนไปตามการตัดสินใจของประกัน และเทคโนโลยีการแพทย์ก็จะเดินตามประกัน เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลในอนาคตบทบาทของประกันจะมีเพิ่มขึ้น อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ประกัน Health Care อาหารต่าง ๆ จะมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด

ดร. สาธิต กล่าวปิดท้าย ชาวอินทาเนียต้องมีความรู้ที่กว้าง และต้องรู้ลึกในศาสตร์ที่เรียน เพราะโลกสมัยใหม่นั้นกว้างและเปลี่ยนไปเร็วมาก อยากให้ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ ๆ รวมทั้งเรื่องของ Empathize ที่อยู่ในหลักการคิดของ Design Thinking ต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร รู้สึกถึงความเป็นทุกข์หรือร้อนใจของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางคณะไม่ได้สอน จึงอยากฝากให้วิศวฯ รุ่นใหม่ ๆ ได้เรียนรู้เพื่อโลกนี้จะได้น่าอยู่มากขึ้น