Intania Dinner Talk 2022… มุมมองใหม่ ฝ่าเศรษฐกิจไทย ปี 2022

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนา “Intania Dinner Talk 2022…มุมมองใหม่ ฝ่าเศรษฐกิจไทย ปี 2022” โดยเชิญนิสิตเก่าที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมาร่วมให้ความคิดเห็นว่าธุรกิจไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปทิศทางไหน เพื่อก้าวทันเทรนด์โลก ณ ห้อง Athenee Crystal Hall โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล

การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้เกียรติมาร่วมงานและปาถกฐาพิเศษ โดยมี อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการสมาคมฯ ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน และสกล เหล่าสุวรรณ อุปนายกสมาคมฯ ขึ้นกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์
สกล เหล่าสุวรรณ

วัตถุประสงค์การจัดงาน Intania Dinner Talk 2022 ครั้งนี้นอกจากเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของกูรูธุรกิจเศรษฐกิจแถวหน้าของไทย ที่ได้ฉายภาพอนาคตธุรกิจยุคใหม่ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยั่งยืนแล้ว วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งก็เพื่อระดมทุนให้สมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ และคณะวิศวฯ จุฬาฯ ใช้สนับสนุนการดำเนินงานด้านวิชาการและกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น กองทุนวิศวจุฬาสงเคราะห์ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ ที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย และต้องการความช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาล มูลนิธิส่งเสริมนวัตกรรมวิศวกรรม มีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการสร้างงานวิจัยและพัฒนาใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมวิศวกรรมล้ำสมัย เป็นองค์ความรู้สำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ โครงการ Intania for Southern Hospital มีภารกิจส่งเสริมการออกแบบและสร้างห้องความดันลบและห้องปราศจากเชื้อสำหรับโรงพยาบาล และกิจกรรมเพื่อสังคมอื่น ๆ

ในส่วนผู้ร่วมเสวนานั้น ประกอบด้วย มนตรี ศรไพศาล วศ.24 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสดอม แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส จำกัด อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ วศ.27 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สมโภชน์ อาหุนัย วศ.28 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ ดร.ปิติ ตัณฑเกษม วศ.31 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างเป็นกันเอง ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อกำหนดของภาครัฐอย่างเข้มงวด ส่วนบรรยากาศบนเวทีการเสวนาก็เป็นไปอย่างข้มข้น โดยผู้ร่วมเสวนาได้แสดงวิสัยทัศน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ พลังงาน อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และศักยภาพของตลาดหุ้นไทย

  

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานในพิธีและองค์ปาฐก กล่าวว่า รัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ รวมถึงโครงข่ายดิจิทัล สร้างระบบ Ecosystem  ที่ส่งเสริมการทำธุรกิจของคนไทย พร้อมดึงดูดคนต่างชาติให้ย้ายถิ่นฐานมาประเทศไทยและเข้ามาลงทุน ซึ่งเชื่อว่า ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมาก โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะเสร็จสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างยิ่ง ทั้งนี้ มองว่าทุกวิกฤตมีโอกาสอยู่เสมอ และตอนนี้หลายคนได้คว้าโอกาสนั้นได้แล้ว โดยได้วางรากฐานธุรกิจเพื่อเดินหน้าต่อ แต่ก็ยังเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตครั้งนี้ ดังนั้น ผู้ที่มีศักยภาพดีจึงควรดูแลช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ด้วย เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ต้องผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
มนตรี ศรไพศาล

การเสวนาหัวข้อ “มุมมองใหม่ ฝ่าเศรษฐกิจไทย ปี 2022” นั้น มนตรี ศรไพศาล วศ.24 กล่าวว่า หากประเทศไทยต้องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน จะต้องต่อยอดและพัฒนาสิ่งที่ถนัดอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว การเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์แห่งอนาคต ธุรกิจอาหารไทย การส่งออกผลไม้ไทย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีศักยภาพในสายตาของนักลงทุน เป็นตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง และไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการระดมทุนได้ในอนาคต  โดยปีนี้ ไทยครองแชมป์การระดมทุนจาก IPO สูงสุดในตลาดอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าการระดมทุนสูงถึง 4,200 ล้านบาท

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ วศ.27 กล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทยหลังวิกฤต ภาครัฐมีหน้าที่ดูแลคนฐานราก ส่วนภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญด้านการลงทุน ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนใหม่ (Reinvest) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่ง จะต้องลงทุนบนพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว พร้อมสร้างนวัตกรรมเองหรือร่วมมือกับผู้อื่น โดยปตท.จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรม New S-Curve ของไทยประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเน้นลงทุนด้านพลังงานสะอาด และธุรกิจใหม่นอกเหนือจากพลังงาน เช่น ผลิตภัณฑ์ยา, บริการทางการแพทย์ ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง ธุรกิจไลฟ์สไตล์และ Mobility โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI Robotics) โดยตั้งเป้าว่าภายในปี พ.ศ. 2573 จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมด นอกจากการขยายธุรกิจขององค์กรแล้ว ก็ยังสร้างโมเดลและแพลตฟอร์มธุรกิจที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และคนในท้องถิ่นให้เติบโตไปพร้อมกัน เช่น ปั๊มน้ำมันที่เป็นจุดรวมของชุมชน และธุรกิจร้านอเมซอน ซึ่งทั้งสองธุรกิจมี SMEs เป็นเจ้าของอยู่ประมาณ 80-90% ของสาขาทั้งหมด

สมโภชน์ อาหุนัย

ด้าน สมโภชน์ อาหุนัย วศ.28 กล่าวว่า หากต้องการให้ประเทศไทยกลับมาแข็งแกร่ง ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญในปัจจุบัน อาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่าง ๆ หรืออาจเริ่มจากทำโครงการแบบ Sandbox ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่นต่อไป นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องเร่งเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมโลกใหม่ เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งปตท.จับมือกับพันธมิตรต่างชาติพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล ส่วนบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ มุ่งเจาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคตทั้งตลาดในประเทศและตลาดระดับภูมิภาค

ดร.ปิติ ตัณฑเกษม

ส่วน ดร.ปิติ ตัณฑเกษม วศ.31 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมของคนและกติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตโควิด-19 ทำให้สินค้าที่เคยขายในรูปแบบเดิมอาจขายไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นหากปรับตัวได้ก่อน ก็จะคว้าโอกาสได้ นอกจากนี้ ควรพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบ Inclusive ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเติบโตไปพร้อมกับรายใหญ่ได้ด้วย

ประมวลภาพงาน Intania Dinner Talk 2022… มุมมองใหม่ ฝ่าเศรษฐกิจไทย ปี 2022